อาหารสุขภาพ ที่ช่วยลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะแทรกซ้อนหากเราได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นความดันโลหิตสูง สิ่งที่หลายคนสงสัยคือหลังจากนี้ควรปรับการรับประทานอย่างไร เพราะอาหารมีผลกระทบสำคัญต่อการลดความดันโลหิต ซึ่งบางคนสามารถควบคุมความดันโลหิตได้เพียงแค่เปลี่ยนอาหารที่รับประทาน และอาจนำไปสู่การช่วยลดความจำเป็นในการใช้ยาลดความดันโลหิตก็ได้
เป็นที่เข้าใจกันดีว่าเกลือหรือโซเดียมสามารถส่งผลต่อระดับความดันโลหิตสูงได้ ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) สหรัฐอเมริกา แนะนำว่าผู้ใหญ่ควรบริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2,300 มก. ในแต่ละวัน หากคุณมีความดันโลหิตสูงแนะนำให้รับประทานไม่เกิน 1,500 มก. ต่อวัน
ถึงแม้ว่าการระวังเรื่องปริมาณเกลือเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หากต้องการลดความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ให้เราพยายามรับประทานอาหารที่เหมาะกับความดันโลหิตเพิ่มด้วย ซึ่งอาหารอะไรที่ช่วยลดความดันโลหิตได้เร็ว? และวิธีในการลดความดันโลหิตตามธรรมชาติที่เร็วที่สุดควรทำอย่างไร? วันนี้เรามีคำตอบมาให้ค่ะ
8 อาหารที่ช่วยลดความดันโลหิต
1. โยเกิร์ตรสธรรมชาติ
โยเกิร์ตอาจมีส่วนในการช่วยลดความดันโลหิต สาเหตุมาจากแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียมในปริมาณสูง ซึ่งเชื่อกันว่าช่วยควบคุมความดันโลหิตได้ ลองมองหาโยเกิร์ตรสธรรมชาติหรือกรีกโยเกิร์ตแบบไม่หวาน นำมาผสมกับผลไม้ เมล็ดพืช และถั่วเพื่อเป็นอาหารเช้าหรือของว่างเพื่อสุขภาพ
2. ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
สตรอเบอร์รี่และบลูเบอร์รี่ อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่าแอนโทไซยานิน จากการวิจัยพบว่าแอนโทไซยานินนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดความดันโลหิตในผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
3. บีทรูท
ผักประเภทหัวนี้มีไนตริกออกไซด์สูง ซึ่งเป็นสารประกอบที่ช่วยลดความดันโลหิตซิสโตลิกหรือความดันตัวเลขค่าบนได้ จะรับประทานบีทรูทเป็นสลัด น้ำบีทรูทแบบไม่เติมน้ำตาล หรือเติมในสมูทตี้ก็ได้
4. มันเทศ
มันเทศเต็มไปด้วยแมกนีเซียม โพแทสเซียม และไฟเบอร์ ซึ่งนอกจากจะเป็นอาหารที่อร่อยแล้ว ยังมีสรรพคุณในการช่วยลดความดันโลหิตได้ด้วย
5. ผักใบเขียว
กะหล่ำปลี ผักโขม ผักคะน้า และผักใบเขียวอื่นๆ มีไนเตรตสูง ซึ่งมีประโยชน์ต่อการช่วยลดความดันโลหิต การรับประทานผักใบเขียวอาจทำได้ง่าย ๆ ด้วยการเปลี่ยนวิธีการรับประทาน เช่น เราอาจเลือกน้ำสลัดที่ชอบเพื่อรับประทานกับผักใบเขียว หรือนำไปผสมเป็นสมูทตี้อร่อย ๆ ก็ได้
6. ปลาที่มีไขมัน
ปลาแซลมอนและปลาแมคเคอเรล อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 และวิตามินดีที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ และนอกจากนี้ก็ยังเป็นสารอาหารที่สามารถช่วยลดความดันโลหิตให้เป็นปกติได้
7. เมล็ดธัญพืช
ข้าวโอ๊ตและเมล็ดธัญพืชอื่น ๆ มีใยอาหารชนิดละลายน้ำที่เรียกว่าเบต้ากลูแคน ซึ่งอาจลดความดันโลหิตทั้งค่าซิสโตลิกและค่าไดแอสโตลิกได้ ลองเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยข้าวโอ๊ตแบบไม่หวานสักชาม จะลองผสมกับผลไม้หรือถั่วอื่น ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติบ้างก็ได้
8. พิสตาชิโอ
การกินถั่วพิสตาชิโอสามารถลดความดันโลหิตในช่วงเวลาเครียดได้ อย่างไรก็ตามถั่วเพื่อสุขภาพเหล่านี้ควรรับประทานแบบไม่ใส่เกลือจะดีที่สุด นอกจากการรับประทานเป็นของว่าง เรายังสามารถเพิ่มพิสตาชิโอลงในสลัด หรือจะผสมมันเข้ากับสมูทตี้ก็ได้