โควิดสายพันธุ์โอมิครอน กำลังแพร่ระบาดอย่างแพร่หลายทั้งในกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศไทย หมอคิดว่าการแพร่ระบาดในครั้งนี้ wave ที่ 5 ของประเทศไทย น่าจะกินเวลาอย่างน้อย 2 – 3 เดือน และน่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าคราวที่แล้ว อย่างไรก็ตามหมอคิดว่าอาการน่าจะรุนแรงน้อยลงกว่า เมื่อช่วงประมาณ 4 – 6 เดือนที่แล้ว แต่ว่าอาการที่น้อยลงไม่ได้แปลว่าอาการน้อย อาการที่น้อยลง เราก็ยังคงต้องสังเกต และจะต้องดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะหากเกิดติดเชื้อจะเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงได้
COVID-19! OMICRON ทำไมถึงต้องจับตามอง?
เมื่อไรที่จะต้องตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 หมอขอแบ่งเป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ สำหรับผู้ที่มีอาการ และผู้ที่ไม่มีอาการ
กรณี 1) สำหรับผู้ที่ไม่มีอาการ และได้มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือผู้ที่ได้รับเชื้อโควิด-19 มาแล้ว แนะนำให้ตรวจหาเชื้อ โดยควรตรวจหลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อมาแล้ว 3 – 5 วัน ในระหว่างนี้ ให้ใส่หน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่าง ตรวจสอบตัวเองว่าได้รับวัคซีนครบแล้วหรือยัง ถ้าเกิดว่าฉีดวัคซีนครบโดส หรือฉีดครบ 2 เข็มแล้ว บวกกับได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ Booster Dose แล้ว ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกักแยกตัวเอง ให้ใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่าง และสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
กรณี 2) สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ อาการที่ว่านี้ก็คือ อาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน ในภาวะที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง แนะนำให้ตรวจทุกรายในผู้ที่มีอาการเหล่านี้ ได้แก่ อาการไข้ ไอ ปวดตัว เจ็บคอมาก มีน้ำมูก เคืองคอ ปวดตัวแบบไม่ทราบสาเหตุ
ข้อดีหรือประโยชน์ของการตรวจหาเชื้อก่อโรคโควิด-19 นี้ คือ เมื่อไรก็ตามที่เรารู้ว่าเราได้รับเชื้อมา เราจะได้แยกตัวออกมาอย่างน้อย 10 วัน เพื่อลดความเสี่ยงในการที่จะแพร่กระจายเชื้อให้ผู้ป่วยท่านอื่นๆ อีกทั้งเราจะได้สบายใจด้วยว่าเราไม่ได้รับเชื้อมา
เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ควรทำอย่างไร?
คุณเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือยัง? ใครบ้างที่ควรตรวจ ATK
วิธีการตรวจ COVID-19 ด้วย ATK กับ RT-PCR ต่างกันอย่างไร?
อีกคำถามหนึ่งที่กำลังเป็นที่สงสัยของใครหลายๆ คน ก็คือ ATK หรือ Antigen Test Kit ต่างจากการตรวจด้วยวิธี RT-PCR อย่างไร?
Antigen Test Kit หรือ ATK จะเป็นการตรวจหาเศษส่วนของเชื้อ โดยชุดตรวจ ATK นี้เราสามารถตรวจเองได้ที่บ้าน โดยมีหลายวิธี ตั้งแต่วิธีการ Swab จมูก, Swab คอ และชุดตรวจแบบน้ำลาย แนะนำว่าให้ใช้ชุดตรวจที่ได้รับมาตรฐานตามที่ WHO แนะนำ โดยควรใช้ชุดตรวจที่ระบุไว้ข้างกล่องว่าเป็นวิธี Lateral Flow Technique (LTF) วิธีนี้มีความแม่นยำ 60-90% ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละยี่ห้อของชุดทดสอบ
การตรวจแบบ LTF นี้ เหมาะสำหรับทุกคน สามารถใช้งานง่าย และทราบผลรวดเร็ว โดยจะแสดงผลตรวจภายในเวลาประมาณ 15 – 30 นาที ข้อควรระวังในการใช้ชุดตรวจ ATK ที่สำคัญคือ ไม่แนะนำให้ตรวจให้คนอื่น เพราะเนื่องจากถ้าเราไม่มีเชื้อ และไปตรวจให้กับผู้ที่ติดเชื้อ โดยที่ไม่ได้ใส่ชุด PPE หรือชุดป้องกันที่ถูกต้อง อาจจะทำให้ได้รับเชื้อมาในระหว่างที่ตรวจให้ผู้อื่นได้
ชุดตรวจโควิดแบบ Swab จมูก/คอ มีขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยาก ใช้ระยะเวลาในการรอผลทดสอบไม่นาน
ชุดตรวจโควิดแบบทดสอบน้ำลาย เหมาะสำหรับคนที่ไม่มั่นใจว่าจะ Swab ได้ถูกต้องหรือไม่ ช่วยลดอาการระคายเคือง และลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บขณะ Swab เหมาะกับผู้สูงวัยและเด็กเล็ก
ส่วนวิธีการตรวจ RT-PCR จะเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อ โดย Swab เข้าไปในโพรงจมูกและในคอเพื่อความแม่นยำในการตรวจ วิธีนี้จะมีความแม่นยำ 95 – 99% ยิ่งมีเชื้อเยอะจะยิ่งตรวจเจอได้เร็วขึ้น ซึ่ง RT-PCR เป็นวิธีที่จะยืนยันการวินิจฉัยโรคโควิด-19 โดยการตรวจด้วยวิธีนี้เราจะไม่สามารถตรวจได้เองที่บ้าน จะต้องมาตรวจที่โรงพยาบาลเท่านั้น
ผลตรวจ ATK เป็นบวก เอายังไงต่อดี?
เมื่อเราตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้ว ขึ้นสองขีด หมายถึง ผลเป็น Positive (+) ต้องทำอย่างไรต่อดี? อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ผลตรวจของ ATK มีความแม่นยำประมาณ 60 – 90% ซึ่งอาจจะมีผลบวกลวงหรือผลลบลวงได้
ผลลบลวง (False Negative) หมายถึง เป็นผู้ติดเชื้อ แต่ให้ผลการทดสอบเป็นลบ (-)
ผลบวกปลอม (False Positive) หมายถึง ไม่ได้ติดเชื้อ แต่ให้ผลการทดสอบเป็นบวก (+)
หากตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้ว ผลเป็นบวก (+) แนะนำให้มาทำ การตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ที่โรงพยาบาลเพื่อเป็นการยืนยันผลวินิจฉัย โดยแนะนำให้ไปโรงพยาบาลที่ใกล้และสะดวกที่สุด หรือใช้สิทธิ์รักษาที่โรงพยาบาลนั้น โดยในระหว่างที่รอจะไปทำ RT-PCR ให้แยกตัวจากคนในครอบครัวก่อน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา คำนึงเสมอว่าเรายังสามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นๆ ในครอบครัวได้ ที่สำคัญอย่าเพิ่งตกใจหรือกังวลไป ให้รีบหาโรงพยาบาลที่ทำ RT-PCR ก่อน
หลังจากที่ตรวจด้วยวิธี RT-PCR จะไม่สามารถทราบผลได้ในทันที ต้องรอผลอย่างน้อย 4 – 8 ชั่วโมง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณจำนวนของผู้ป่วยในแต่ละโรงพยาบาลด้วย สำหรับโรงพยาบาลศิครินทร์ผู้ป่วยสามารถเช็กผลตรวจ RT-PCR นี้ได้ผ่านทางเว็บไซต์ โดยการสแกน QR-Code ซึ่งผู้ป่วยสามารถตรวจสอบผลตรวจได้ด้วยตนเองหลังจากที่มาตรวจที่โรงพยาบาลประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง
*กรุณากรอกข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วนก่อนเข้ารับการตรวจ Covid-19
กรณีที่ผลการตรวจ RT-PCR เป็นบวก คือ เป็นผู้ได้รับเชื้อโควิด-19 ซึ่งจะต้องประเมินอาการและรับการรักษา หมอก็จะแบ่งคนไข้ออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว (กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย) และกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงในภายหลัง
กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่ความเสี่ยงที่จะเกิดโรครุนแรงในภายหลัง โดยจะเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่อายุมาก โดยมีอายุตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป หรือว่ามีโรคประจำตัวที่อาจจะทำให้โควิด-19 รุนแรงขึ้นถึงแม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์โอมิครอนก็ตาม
กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่
ผู้สูงอายุ อายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
ผู้ที่ตั้งครรภ์
ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด
ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด
ผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 แบบไหน? เข้าเกณฑ์การทำ Home Isolation
Home Isolation หรือการกักตัวที่บ้าน คือ อีกหนึ่งวิธีในการดูแลตัวเอง สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการแสดง หรือแสดงอาการเพียงเล็กน้อย สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินแล้วว่าสามารถรักษาตัวอยู่ที่บ้านได้
การการทำ Home Isolation จะต้องไม่ใช่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เป็นผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ และไม่มีอาการปอดอักเสบ ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องมารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ได้แก่
ผู้ป่วยที่มีอาการมาก เช่น ไข้สูงมาก
น้ำหนักตัวมาก, BMI หรือดัชนีมวลกาย มากกว่า 28
ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน
ผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบตั้งแต่แรก
สำหรับโรงพยาบาลศิครินทร์ จะมีการคัดแยกผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้ป่วยที่จะต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะมีการโทรศัพท์แจ้งให้เตรียมตัวและจะส่งรถไปรับที่บ้านเพื่อมาทำการรักษาต่อไป 2) สำหรับกลุ่มที่ไม่จำเป็นที่จะต้องนอนโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลจะมี Hotel Isolation ซึ่งการประเมินวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับลักษณะต่างๆ และอาการของผู้ป่วยที่หมอได้ระบุไว้ข้างต้น
ผู้ป่วยโควิด เมื่อต้อง ‘Home Isolation’ หรือแยกกักตัวที่บ้าน ต้องทำอย่างไรถึงจะปลอดภัย ?
ดูแลตัวเองอย่างไรให้รอดจากสายพันธุ์โอมิครอน?
การจะดูแลตัวเองให้รอดจากโควิดสายพันธุ์โอมิครอนนี้ หมอขอแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็ม 3 Booster Dose โดยแบ่งเป็น 2 กรณี
ผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อนเลย ควรฉีดวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม โดยแนะนำให้รับวัคซีนชนิด mRNA
ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว
วัคซีนโควิดมีกี่ชนิด?
กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccines)
Sinovac + Sinovac
Sinopharm + Sinopharm
หากรับวัคซีนมานานเกิน 4 สัปดาห์ ขึ้นไป ให้รับวัคซีนเข็ม 3 (Booster Dose) โดยแนะนำให้รับวัคซีนชนิด mRNA
กลุ่มที่ได้รับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ (Viral Vector Vaccines)
AstraZeneca + AstraZeneca
Sinovac + Astrazeneca
หากได้รับวัคซีนมาแล้ว ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ให้รับวัคซีนเข็ม 3 (Booster Dose) โดยแนะนำให้รับวัคซีนชนิด mRNA
ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ฉีดเมื่อไรดี?
วิธีการป้องกันตัวเองอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือการใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัด และการรักษาระยะห่างจากคนอื่นให้ห่างเกิน 1.5 เมตร หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่อับอากาศ สถานที่อากาศไม่ถ่ายเท ในลิฟต์ถ้ามีคนเกิน 6 คน อย่าเข้าไป แนะนำให้รอก่อน และหมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยทุกครั้งที่จะสัมผัสใบหน้า จมูก และตาของตัวเอง ให้คำนึงเสมอว่าที่มือของเรา อาจจะมีเชื้อก่อโรคโควิด-19 อยู่ด้วย
สำหรับใครที่มีผู้สูงอายุ หรือว่าผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรครุนแรงอยู่ที่บ้าน ให้แยกคนไข้กลุ่มนี้ออกจากคนอื่นๆ อย่างเช่น เราต้องออกไปทำงาน หรือออกไปนอกบ้าน ก่อนที่จะไปกอดหรือไปสัมผัสผู้สูงอายุ คุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ที่บ้าน ควรอาบน้ำ สระผม ล้างมือให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยไปเจอท่าน ไม่อย่างนั้น เราอาจจะเป็นคนที่นำเชื้อไปหาคนที่คุณรักโดยที่ไม่รู้ตัว
ศูนย์ข้อมูลโควิด-26: ตรวจ COVID-19 ด้วย ATK ผลเป็นบวก ต้องทำอย่างไร? อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/covid-19