ผู้ป่วยโรคไตควรงดอาหารเค็มจริงหรือไม่ ?“กินเค็มมาก! เดี๋ยวก็เป็นโรคไตหรอก”… เป็นสิ่งที่เรามักจะได้ยินมาโดยตลอด
โดยปกติแล้วไตจะสามารถทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำและเกลือแร่ให้สมดุลได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้าหากเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ จึงไม่สามารถควบคุมปริมาณเกลือแร่ให้สมดุลได้
ผู้ป่วยโรคไตส่วนใหญ่พยายามหลีกเลี่ยงเครื่องปรุงอาหารที่มีรสเค็ม อย่างเกลือและน้ำปลา แต่นั่นอาจจะเป็นความเข้าใจที่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด เพราะจริง ๆ แล้วสิ่งที่ทำให้ไตต้องทำงานหนักนั้นคือ โซเดียม ซึ่งเป็นเกลือแร่ที่แฝงอยู่ในอาหารต่าง ๆ มากมายในชีวิตประจำวัน
เนื่องจากอาหารรสเค็มส่วนใหญ่มักจะมีโซเดียมในปริมาณที่สูง จึงอาจพอสรุปได้ว่า ถ้าต้องการลดโซเดียมในอาหาร การลดเค็ม ถือเป็นวิธีที่สะดวกที่สุดในทางปฏิบัติ แต่การเตรียมอาหารผู้ป่วยโรคไต ก็ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องระวัง เพราะโซเดียมไม่ได้มีอยู่แต่ในอาหารที่มีรสเค็มเท่านั้น
โซเดียม ไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติเค็ม
ในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังนั้น ไตจะไม่สามารถควบคุมปริมาณเกลือแร่ให้สมดุลได้ ทำให้ไม่สามารถขับโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกายได้ จึงเกิดโซเดียมสะสมในเลือดสูง ทำให้มีอาการบวม เป็นความดันโลหิตสูงและโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ส่งผลให้เนื้อไตถูกทำลายมากขึ้นกว่าเดิม เราจึงต้องควบคุมปริมาณโซเดียมในอาหารผู้ป่วยโรคไต ไม่ให้สูงเกินมาตรฐานที่กำหนด
นอกจากนี้ เครื่องปรุงที่ใช้ประกอบอาหาร ก็เป็นอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณที่สูง เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นในซอสปรุงรส ซีอิ้วขาว ผงชูรส ซุปก้อน น้ำจิ้มต่าง ๆ ขนมถุง อาหารแปรรูป เช่น แฮม เบคอน อาหารหมักดอง รวมถึงบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอีกด้วย
เมื่อพูดถึงในอาหารผู้ป่วยโรคไต หลายคนพยายามหลีกเลี่ยงกันแต่อาหารที่มีรสเค็มเพียงอย่างเดียว แต่ที่จริงแล้ว อาหารที่ไม่มีรสเค็มหลาย ๆ อย่างก็มีโซเดียมเป็นองค์ประกอบในสัดส่วนที่สูง อย่างเช่น ขนมปัง ขนมเค้ก คุกกี้ และแพนเค้ก ก็ใช้ผงฟู ซึ่งใช้โซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate) เป็นองค์ประกอบ เมื่อกินเข้าไปแล้ว ทำให้ได้รับโซเดียมไม่ต่างจากการกินเค็มเลยทีเดียว
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของอาหารผู้ป่วยโรคไตเท่านั้น ที่เราควรเอาใจใส่ใจเป็นอย่างดี เพราะยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีก ที่อาจส่งผลให้ไตทำงานหนักได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น
การขาดการออกกำลังกาย เพราะว่าการขาดการออกกำลังกายนั้นอาจจะเป็นสาเหตุของโรคอื่น ๆ ทั้งโรคอ้วน โรคหัวใจ ซึ่งโรคเหล่านั้นก็ส่งผลกระทบต่อไตให้เสื่อมเร็วขึ้นได้เช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่หักโหมออกกำลังกายหนักเกินไปอีกด้วย
การพักผ่อนไม่เพียงพอ เมื่อร่างกายทำงานหนักจนเกิดความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายไม่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อไตเช่นกัน
จะเห็นว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง ซึ่งถ้าผู้ป่วยโรคไตนั้นสามารถทำควบคู่ไปกับการเลือกอาหารที่เหมาะสมกับร่างกาย ก็จะทำให้ส่งผลดีต่อไตมากขึ้น
ผู้ป่วยโรคไต ควรเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เนื่องจากผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่าง แถมยังต้องอยู่กับพฤติกรรมใหม่ไปอีกยาวนาน เราจึงแนะนำให้ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรม อย่าหักโหมหรือใช้วิธีหักดิบ เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัดเปล่า ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของอาหารผู้ป่วยโรคไต แม้จะมีสิ่งที่ควรเลี่ยงอยู่บ้าง แต่หลักสำคัญนั้นไม่ใช่ให้เลิกกินอาหารทุกประเภทที่เป็นข้อห้ามทั้งหมด แต่เป็นการจำกัดสารอาหารเหล่านั้นให้มีปริมาณน้อย ๆ
ยกตัวอย่างเช่น เนื้ออกไก่ มีโปรตีนสูง ผู้ป่วยโรคไตอาจรับประทานได้ แต่ต้องกินแต่น้อย หรือเต้าหู้ ที่มีฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ (เพราะทำมาจากถั่วเหลือง) ก็ให้เราจำกัดปริมาณเต้าหู้ที่กิน โดยศึกษาคุณค่าทางโภชนาการเพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ที่เชื่อถือได้ เป็นต้น
ในช่วงแรกอาจจะทดลองปรุงอาหารผู้ป่วยไตตามเมนูแนะนำนี้ก่อน แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนหรือสร้างสรรค์โดยพิจารณาเกณฑ์ในการเลือกอาหารจากหัวข้อ “อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรรับประทาน และควรหลีกเลี่ยง” ร่วมด้วย
สรุป
การเลือกอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไตให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ป่วยต้องเริ่มปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ตั้งแต่ตรวจพบว่าเป็นโรค โดยอาจให้คนในครอบครัวมีส่วนร่วมในการควบคุมอาหาร
นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัด เพื่อความต่อเนื่องในการวางแผนรักษา หรือการพบนักโภชนาการเพื่อช่วยกันวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อชะลอความเสื่อมของไตลงได้
โดยทางสถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า ซึ่งประกอบด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในแต่ละด้าน มีความพร้อมที่จะดูแลและรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องไตเป็นอย่างดี เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโรคไต และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังนั้นดีขึ้นได้อีกด้วย