การพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดลดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี ตรงกับความต้องการและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ป่วยน้อยที่สุด จะมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้ป่วยกับคณะแพทย์และสหสาขาวิชาชีพที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วย และเนื่องจากผลการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อบำบัดรักษาโรคอ้วนจะให้ผลดีที่สุดในการผ่าตัดครั้งแรก จึงแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีค่า BMI เกิน 50 กิโลกรัม/เมตร2 พิจารณารับการผ่าตัดแบบ By pass กระเพาะอาหาร หากไม่มีข้อห้าม มากกว่าการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหาร
ความสำคัญในการเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนเข้ารับบริการผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
ก่อนเข้ารับบริการผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจประเมินสุขภาพร่างกายจากทีมแพทย์เฉพาะทาง และทีมสหสาขาวิชาชีพในด้านต่างๆ ได้แก่
1. พบอายุรแพทย์ต่อมไร้ท่อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดรักษาโรคอ้วนหรือผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งจะทำการตรวจประเมินภาวะความเสี่ยงและสาเหตุอื่นๆ ของโรคอ้วน รวมถึงให้การรักษาโรคร่วมทางอายุรกรรม เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง
2. พบอายุรแพทย์ทางเดินอาหาร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับ เพื่อตรวจประเมินภาวะไขมันพอกตับ และภาวะตับอักเสบจากไขมันพอกตับ โดยการตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องและตรวจสแกนเนื้อเยื่อตับ (Fibroscan) และร่วมให้การรักษาหากมีภาวะตับอักเสบ
3. พบอายุรแพทย์ทางเดินหายใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะการนอนกรนและการหยุดหายใจขณะนอนหลับ เพื่อทำการตรวจ Sleep Test และประเมินความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจระหว่างนอนหลับ (CPAP) โดยหากผู้ป่วยมีภาวะจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ควรเริ่มรับการรักษาอย่างน้อย 6-8 สัปดาห์ ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
4. เข้ารับการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนต้น เพื่อประเมินภาวะหลอดอาหารอักเสบจากกรดไหลย้อน ตรวจการติดเชื้อ Helicobacter ในกระเพาะอาหาร และความผิดปกติทางกายวิภาคอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับผลการผ่าตัด
5. ปรึกษานักโภชนาการ เพื่อปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยแนะนำให้ผู้ป่วยลดการรับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูง (ปริมาณแคลอรีรวมต่อวันต้องไม่เกิน 800-1200 แคลอรี) ปรับลดอาหารจำพวกข้าว แป้ง และไขมัน ปรับเพิ่มอาหารจำพวกกากใย และเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันน้อย
นอกจากนี้ ยังอาจต้องปรึกษาแพทย์สาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น จิตแพทย์ แพทย์โรคผิวหนัง หรือศัลยแพทย์กระดูกและข้อ เพื่อร่วมกันตรวจประเมินและให้การรักษาที่จำเป็นแก่ผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด
ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำให้เริ่มออกกำลังกายตามความเหมาะสมกับข้อจำกัดทางสรีระ และสุขภาพของผู้ป่วย โดยเน้นการออกกำลังกายแบบมีแรงต้านเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และการออกกำลังกายแบบแอโรบิคเพื่อช่วยเพิ่มการเผาผลาญแคลอรีและไขมันส่วนเกิน
ในระหว่างช่วงการเตรียมตัวผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด แนะนำให้ผู้ป่วยเริ่มทำการลดน้ำหนักส่วนเกินให้ได้ประมาณ 5-10% ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดได้มาก ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการลดน้ำหนักหลังการผ่าตัดให้ดียิ่งขึ้น
การปฏิบัติตัวภายหลังการผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก
ในระยะแรกภายหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยจะต้องปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยรับประทานอาหารตรงตามมื้ออาหารเท่านั้น และหยุดรับประทานเมื่อเริ่มรู้สึกอิ่ม เลือกรับประทานอาหารจำพวกโปรตีนและเนื้อสัตว์เป็นหลัก งดรับประทานอาหารจำพวกข้าวและแป้ง จำกัดปริมาณรวมต่อวันไม่เกิน 800-1200 แคลอรี พยายามไม่ดื่มน้ำระหว่างรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนและหลังรับประทานอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ไปดื่มน้ำให้เพียงพอในช่วงเวลาระหว่างมื้ออาหารแทน โดยควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 2500-3000 มิลลิลิตรต่อวัน
ทั้งนี้ควรงดการรับประทานอาหารหรือขนมจุบจิบระหว่างมื้ออาหาร และงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อยางเด็ดขาด
ข้อดีของการผ่าตัดลดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery)
แผลผ่าตัดเล็ก
ใช้เวลาฟื้นตัวหลังการผ่าตัดน้อย
ผู้ป่วยสามารถเริ่มกลับมาออกกำลังกายได้ตามปกติทันที (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม)
ทีมแพทย์เฉพาะทางมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์โดยตรง จะทำงานร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อสนับสนุนและวางแผนการรักษาเป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุด
ข้อแนะนำ
หากก่อนเข้ารับการผ่าตัดมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจระหว่างนอนหลับ ยังจำเป็นจะต้องใช้เครื่องอย่างต่อเนื่องไปก่อนจนกว่าแพทย์จะแนะนำให้หยุดใช้ได้
ควรมาพบแพทย์เพื่อติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอตามนัดทุกครั้ง โดยคณะแพทย์และทีมสหสาขาจะติดตามแนวโน้มการลดลงของน้ำหนักตัว และอาการแทรกซ้อนต่างๆ รวมถึงภาวะทุพโภชนาการที่พบได้หลังการผ่าตัด และทำการปรับลดขนาดยารักษาโรคร่วมต่างๆ ตามอาการที่ดีขึ้น
ในผู้ป่วยเพศหญิงจะแนะนำให้ทำการคุมกำเนิดไว้ก่อน เพื่อป้องกันผลเสียจากการลดน้ำหนักต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
ภายหลังเข้ารับการผ่าตัดเป็นเวลา 2 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเริ่มสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น น้ำหนักที่ลดลงไปอาจจะเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามคงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่เหมาะสม และการออกกำลังกายที่เพียงพอเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ร่วมกับการติดตามการรักษากับทีมแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผลการรักษาที่ดี สามารถคงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว