ถ้าพูดถึงประเทศอิหร่าน อาจจะคุ้นตากับศาสนสถานที่ตกแต่งแบบรัฐอิสลาม มีสีสันกลิ่นอายเปอร์เซียในเมืองใหญ่ ๆ ในกรุงเตหะรานหรือเมืองชีราช แต่หากออกนอกเมืองมาจะพบว่าลักษณะภูมิประเทศมากกว่าร้อยละ 95 เป็นที่สูงในลักษณะของเทือกเขาสูงและที่ราบสูงเต็มไปด้วยหน้าผา ซึ่งหมู่บ้านโบราณในประเทศอิหร่านจำนวนมากอาศัยอยู่ในบ้านที่ขุดด้วยมือกลางโขดหินที่เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ แนวคิดบ้านโมเดิร์นที่ก่อตัวขึ้นใหม่ไม่น้อยที่พยายามสร้างความกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม โดยใช้คอนกรีต เป็นหลัก เหมือนเช่นบ้านนี้ที่นำมาให้ชม
ที่ดินขนาด 25 x 60 เมตร มีความลาดชันประมาณ 7% ในบริเวณวิลล่าซึ่งหันหน้าไปทางที่ราบทุ่งหญ้ากว้าง และด้านหลังเป็นแนวทิวเขา บริเวณนี้มีวิลล่าทรงสูงที่มีวัสดุหลากหลาย แปลกตา และมีสถาปัตยกรรมหลายประเภท ที่มีอิทธิพลต่อการก่อสร้างวิลล่าอื่นๆ และโครงสร้างเมืองด้วย กระบวนการออกแบบจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ประกอบกับสภาพภูมิประเทศแล้ว บทสรุปออกมาว่าบ้านจะใช้คอนกรีตที่แข็งแกร่งเป็นหลัก แทรกด้วยกระจกในจุดที่ต้องการรับวิวและแสง
สถาปนิกเลือกการวางยูนิตแยกกันบนไซต์ เป็นกล่องคอนกรีต 4 ยูนิต วางเรียงซ้อนและกระจายตัว จากนั้นจึงหาวิธีสื่อสารและการเชื่อมต่อระหว่างกัน โดยการแบ่งปันช่องว่างระหว่างหน่วยให้เป็นพื้นที่หายใจของบ้าน และใช้บันไดเป็นตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างกล่อง สามารถสร้างประสบการณ์เชิงพื้นที่ที่คาดไม่ถึงทั้งพื้นที่ภายนอกและภายใน
แต่ละกล่องจะมีฟังก์ชันต่างกันไป ในส่วนที่ต่อเชื่อมจากสระน้ำด้านหน้าจะมีขนาดใหญ่ที่สุด เป็นส่วน Living ส่วนกลางที่ใช้งานร่วมกัน ภายในประกอบด้วย ห้องนั่งเล่น ครัว โต๊ะทานข้าว มุมพูดคุยดื่มกาแฟที่มีระดับความสูงจากพื้นถึงเพดานหลายเมตร ผนังได้รับการออกแบบให้โปร่งใสตามมุมมองของภูเขา ส่วนเป็นผนังคอนกรีตช่วยกำจัดแสงที่ไม่เหมาะสมจากทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ทำให้บ้านมีความสมดุลของความเบาและหนาหนัก ความเป็นส่วนตัวและการเปิดวิสัยทัศน์ที่คิดมาอย่างดี
คอนกรีตเปลือยมีบทบาทสำคัญในการเป็นฉากหลังของบ้านที่โชว์เนื้อแท้แบบดิบๆ ไม่ฉาบทับ ไม่ทาสี ซึ่งจะทำให้ส่วนตกแต่งอื่นๆ ของบ้านโดดเด่นขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโคมไฟแขวนติดเพดาน ตู้ โต๊ะวางทีวี หรือเตาผิง ห้องสมุด ไว้บนผนังคอนกรีตในพื้นที่ใช้สอย ในขณะที่พื้นเลือกไม้ปาร์เกต์ปูตลอดทั้งโครงการ เพื่อสร้างบรรยกาศโดยรวมที่อบอุ่นขึ้น ให้ความสมดุลกับโครงสร้างคอนกรีตดิบแข็ง ทำให้ไม่รู้สึกว่าบ้านนี้เป็นสิ่งก่อสร้างที่เย็นชาเกินไป
ส่วนของกล่องที่อื่นๆ จะเป็นพื้นที่บันไดเป็นเหมือนกล่องกระจก เชื่อมต่อไปยังคอร์ทยาร์ดใจกลางบ้าน และห้องนอนที่อยู่อีกด้าน จะเห็นว่าความสูงของกล่องจะแปรผันตามความลาดเอียงของพื้นที่ ช่วยรักษาความเป็นอิสระของแต่ละยูนิต แต่ก็มีการสื่อสารที่ลื่นไหลทั้งในแบบแปลนที่เน้นความโปร่งโล่ง มีบันไดและกระจกที่สร้างความต่อเนื่องของมุมมองตามบริบทของไซต์ในหลายทิศทาง
ตรงกลางระหว่างการเรียงกล่องคอนกรีตแต่ละยูนิต สถาปนิกเว้นที่ว่าเปิดออกสู่ท้องฟ้าตรงกลาง เพื่อเป็นจุดที่ดักลม แสงสว่างตามธรรมชาติ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวที่เป็นส่วนตัว โดยที่ห้องทั้งหมดที่ล้อมอยู่ติดตั้งวัสดุกระจกในบริเวณกว้าง บ้านจึงไม่ขาดแสง ลม และความใกล้ชิดกับต้นไม้ เพิ่มความมีชีวิตชีวาให้บ้านคอนกรีตและสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยเนินดินแห้งๆ
บรรยากาศบ้านช่วงค่ำเมื่อเปิดไฟฟ้าส่องสว่าง ยิ่งเห็นความแตกต่างระหว่างส่วนที่ทึบแสงกับส่วนที่โปร่งแสง ผนังที่กระจายแสงออกมาจาตัวบ้านเปล่งประกาย คล้ายเป็นตะเกียงดวงใหญ่ส่องสว่างในใจกลางทิวเขาที่เป็นฉากหลัง ดูต่างจากช่วงกลางวันที่คอนกรีตเป็นจุดเด่นดึงดูดสายตา
ความสมดุล เป็นหนึ่งองค์ประกอบที่ค่อนข้างสำคัญในงานสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะในการเลือกวัสดุ ต้องมองในภาพรวมเพื่อไม่ให้หนักไปทางใดทางหนึ่ง อย่าง Brutalist Architecture ที่แสดงตัวตนผ่านคอนกรีตดิบเปลือย มีรูปลักษณ์ที่ดูใหญ่โต จะสร้างความรู้สึกแข็งแกร่งในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกหนัก ทึบ กระด้าง ถ้าใช้ในบริเวณมากเกินไป จะทำให้ความรู้สึกของบ้านเย็นชาเกินไป การเพิ่มงานไม้ ผ้า หนัง ที่เติมความรู้สึกอบอุ่น แทรกด้วยกระจกโปร่งใสและเบา จะคานอารมณ์ของบ้านให้สมดุลมองสบายตาอยู่สบายใจมากขึ้น
ออกแบบบ้านสองชั้น: บ้านคอนกรีตล้วน เผยพลังแห่งความแข็งแกร่ง อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://luxuryhomesdesigns.com/